Beer..Bitter

วัดท่าการ้อง

Picture
เป็นวัดโบราณมีมาแต่สมัยอยุธยา สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.2092 หรือประมาณ 460 ปีมาแล้ว สันนิษฐาว่าคงเป็นวัดที่ราษฎรสร้าง เพราะไม่ปรากฏรายชื่อพระอารามหลวงสมัยอยุธยา ตามบันทึกพระราชพงศาวดาร วัดท่าการ้องมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยามากมาย ทั้งยังเป็นที่ฝึกฝนศิลปะแม่ไม้มวยไทยของนักมวยไทยที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งคือ นายขนมต้ม  นั่นเอง

          สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้ คือ หลวงพ่อยิ้ม พระพุทธรูปเก่าแก่สมัยอยุธยาใกล้ๆ กับโบสถ์มีศาลเจ้าแม่ตะเคียน ซึ่งคนที่มากราบไหว้เจ้าแม่ตะเคียนส่วนใหญ่มักจะมาขอเลขเด็ดกันทั้งนั้น ถัดจากศาลเจ้าแม่ตะเคียนเดินไปศาลาการเปรียญเป็นอาคารทรงไทยไม้สัก บนศาลาเต็มไปด้วยญาติโยมที่มาทำบุญ ด้านล่างข้างศาลามีญาติโยมต่อแถวบริจาคปัจจัยทำบุญซื้อที่ดินถวายวัดตารางวาละ 1 บาท พร้อมทั้งบริจาคค่าน้ำค่าไฟ ถัดไปเป็นที่ตั้งประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอยู่ในห้องแอร์ วัดท่าการ้องมีทุกอย่างที่คนไทยชาวพุทธนับถือ ทั้งเจ้าแม่กวนอิม เจ้าแม่ตะเคียน รูปหล่อองค์จตุคามขนาดใหญ่ 4 องค์ และพระพิฆเนศ


วัดใหญ่ชัยมงคล

Picture
 "วัดใหญ่ชัยมงคล" ตั้งอยู่นอกเกาะมืองอยุธยาด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ หรือห่างจากวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้มไปทางใต้ประมาณ 800 เมตร ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดป่าแก้ว หรือ วัดเจ้าไท จุดเด่นของวัดได้แก่เจดีย์องค์ใหญ่ที่เชื่อกันว่าได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ภายในได้มีการค้นพบชัยมงคลคาถาบรรจุอยู่ ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชัยมงคลพระประธานที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัด นอกจากนี้แล้ว ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2544 อีกด้วย

วัดพนัญเชิง

Picture
"วัดพนัญเชิง" เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร วัดแห่งนี้มีความเชื่อกันว่าเมื่อมากราบไหว้จะช่วยเสริมมงคล ด้านการค้าพาณิชย์รุ่งเรือง ความสำเร็จในงาน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักทางทิศใต้ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง ห่างจากตัวเมืองราว 5 กิโลเมตร หรือเมื่อออกจากวัดใหญ่ชัยมงคล ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปตามถนนประมาณ  1 กิโลเมตร ก็จะเห็นวัดพนัญเชิงอยู่ทางขวามือ 

          สิ่งสำคัญที่สุดของวัดนี้ก็คือ พระพุทธรูปปางสมาธิขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 20 เมตร 17 เซนติเมตร สูง 19 เมตร ซึ่งแต่เดิมนั้นประทับนั่งอยู่กลางแจ้ง ชาวบ้านเรียกว่า "หลวงพ่อโต" หรือชาวไทยเชื้อสายจีน เรียกว่า "ซำปอกง" และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า "พระพุทธไตรรัตนนายก" ตำนานกล่าวว่าเมื่อคราวจะเสียกรุงครั้งที่ 2 มีน้ำพระเนตรไหลลงมาถึงพระนาภี วัดและองค์พระชำรุด เนื่องจากไฟไหม้ใน พ.ศ.2444 จึงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

          นอกจากนี้ ยังมีเก๋งจีนขนาดเล็ก ซึ่งอยู่ทางด้านข้างของพระวิหารใหญ่ ชาวบ้านเรียกอาคารเก๋งจีนนี้ว่า "ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก" ตัวอาคารเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมแบบจีน ชั้นบนประดิษฐานรูปเคารพ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า เจ้าแม่สร้อยดอกหมากตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา