Beer..Bitter

หัวโขนจำลอง

Picture
โขนเป็นมหรสพชั้นสูงที่ มีมาตั้งแต่โบราณ โดยสันนิษฐานว่า “โขน” ได้พัฒนามาจากการแสดง 3 ประเภท คือ การแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์ กระบี่กระบอง และหนังใหญ่ เมื่อแรกการแสดงโขนน่าจะยังไม่มีหัวโขน แต่อาจใช้การแต่งหน้าเขียนระบายสีลงบนหน้าผู้แสดงแต่ละคนตามลักษณะของบุคคลในเรื่อง แต่การเล่นโขนแบ่งพวกตัวแสดงออกเป็นข้างละมากตัว ใช้คนแสดงจำนวนมาก การเขียนแสดงหน้าผู้แสดง จึงนับเป็นงานหนักมากต่อมาจึงมีผู้แก้ข้อขัดข้องนี้โดย สร้างหน้ากากจำลองใบหน้าเป็นรูปต่างๆใช้สวมครอบศีรษะ ต่อมาจึงปรับปรุงหน้ากากหรือโขนให้ยึดติดกับเทริดแล้วสวมครอบศีรษะ ปิดมิดเพื่อความสะดวกในการแสดง เรียกว่า หัวโขน จากจดหมายเหตุ (A New Historical Relation of Siam) ของลาลูแบร์ (Monsieur De La Loubere) พ่อค้าชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระบุว่า ผู้แสดงโขนทุกตัวสวม “หน้าโขน” นับแต่สมัยอยุธยาตอนปลายลงมา หัวโขนคงจะได้รับการประดิษฐ์คิดสร้างอย่างสมบูรณ์สวยงามเป็นพิเศษ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นพบหลักฐานศีรษะพระครูในคลังศิลปะสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ และศีรษะทศกัณฐ์ขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างในสมัย รัชกาลที่ 1 และ 2 แต่การสร้างหัวโขนมาเจริญถึงขีดสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งถือเป็นยุคทองของวงวรรณกรรมและนาฏศิลป์ไทย ในปัจจุบันหัวโขนมิได้เป็นเพียงส่วนประกอบสำคัญในการแสดงโขนเท่านั้น หากแต่หัวโขนได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของไทยไปแล้ว ต่อมาหัวโขนได้ถูกย่อส่วนลง เป็น หัวโขนขนาดเล็ก หรือ หัวโขนจำลอง ใช้สำหรับเพื่อจัดแสดง ประดับประดาในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ตามโรงแรม ห้องนิทรรศการ ห้องแสดงสินค้าหัตถกรรมไทย เป็นต้น เป็นการเสริมสร้างบรรยากาศให้มีเสน่ห์อย่างล้ำลึก และมีเอกลักษณ์อันโดดเด่น หรือ ให้เป็นของที่ระลึก นอกจากนี้หัวโขนและหัวโขนจำลองยังได้กลายเป็นของสะสมสำหรับผู้มีรสนิยมทางศิลปะอันละเมียดละไมอีกด้วย

หัวโขนนับเป็นงานศิลปะขั้นสูงที่รวมเอาผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญในเชิงช่างโบราณ (ช่างสิบหมู่) หลายสาขาเข้าไว้ด้วยกัน อาทิ ช่างหุ่น ช่างปั้น ช่างแกะสลัก ช่างกลึง ช่างรัก และช่างเขียน แต่ในทางปฏิบัติกว่าจะได้มาซึ่งหัวโขนที่ถูกต้องและสวยงามนั้นต้องอาศัยเทคนิคและองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมากมาย